หมวดหมู่: เกษตร

1aaagETประสงค์ ประไพตระกูล


กรมการข้าว หวั่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระบาดซ้ำเติมชาวนา กำชับเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด

    นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลานี้ ได้เกิดอุทกภัยขึ้นในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายให้แก่ชาวนาเป็นจำนวนมาก กรมการข้าวจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดูแลชาวนาอย่างใกล้ชิด ทั้งที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และเฝ้าระวังพื้นที่อื่นๆ ที่อาจมีการระบาดของแมลงศัตรูข้าวซ้ำเติมชาวนาเพิ่มมากขึ้น ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีจึงได้ทำการติดตั้งเครื่องกับดักแสงไฟนีออน บริเวณแปลงขยายพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ซึ่งข้าวอยู่ในระยะแตกกอ และเริ่มตั้งท้อง จำนวน 3 จุด

   พบว่า เครื่องกับดักแสงไฟนีออน 3 เครื่อง/ 1 คืน พบแมลงหล่า ประมาณ 900-1,500 ตัว และพบแมลงเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ประมาณ 1,500 – 2,100 ตัว/คืน จึงจัดอยู่ในระดับการระบาดรุนแรง ดังนั้นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจึงควรเฝ้าระวังและสำรวจแปลงนาอยู่เสมอ หากพบแมลงหล่าหรือเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้รีบป้องกันและทำลายเพื่อไม่ให้เกิดการระบาด

    แมลงหล่า เป็นมวนชนิดหนึ่ง มีลักษณะค่อนข้างกลมคล้ายโล่ ด้านหัวและอกเป็รูปสามเหลี่ยม ลำตัวมีสีน้ำตาลหรือดำเป็นมันวาว ยาว 7-8 มิลลิเมตร กว้าง 4-5 มิลลิเมตร เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย ชอบอาศัยรวมกลุ่มที่โคนต้นข้าวเหนือระดับน้ำในตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนจะเคลื่อนย้ายขึ้นบนต้นข้าว ตัวเต็มวัยมีอายุนานถึง 214 วัน อยู่ข้ามฤดูหนาวหรือฤดูแล้ง โดยฟักตัวอยู่ในร่องระแหงดินในที่มีหญ้าชื้น เมื่อสภาพภูมิอากาศเหมาะสมจะบินเข้าแปลงนา ตัวเต็มวัยสามารถอพยพได้ ระยะทางไกลๆ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวบริเวณโคนต้นข้าว ทำให้บริเวณที่ถูกทำลายเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเหลือง ขอบใบข้าวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำคล้ายข้าวเป็นโรคไหม้ ชอบทำลายในระยะข้าวแตกกอ ทำให้กอข้าวมีอาการแคระแกร็น มีสีเหลืองหรือเหลืองแกมน้ำตาล และการแตกกอลดลง ถ้าทำลายหลังระยะข้าวตั้งท้องจะทำให้รวงข้าวแกร็น ออกรวง ไม่สม่ำเสมอและเมล็ดลีบ

    วิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้ 1. สำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ 2. ใช้แสงไฟฟ้าล่อแมลงและทำลายในช่วงที่มีการระบาด เนื่องจากแมลงหล่าชอบบินมาเล่นแสงไฟเวลากลางคืน 3. ปลูกข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น เพื่อลดการเพิ่มประชากรในนาข้าว 4. กำจัดวัชพืชที่ขึ้นหนาแน่นในนาข้าวเพื่อให้นาข้าวโปร่งแสงแดดส่องถึงโคนต้นข้าว ทำให้สภาพนาข้าวไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของแมลงหล่า 5. พื้นที่ระบาดที่สามารถไขน้ำเข้านาได้ ให้ไขน้ำเข้าท่วมโคนต้นข้าว เพื่อให้นาข้าวไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการเข้าทำลายของแมลงหล่า 6. ถ้าพบแมลงหล่ามากกว่า 5 ตัวต่อกอ ควรใช้สารเคมีกำจัดแมลง คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิเมตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเฉพาะจุดที่มีการระบาดโดยพ่นบริเวณโคนต้นข้าว

    เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล  เป็นแมลงปากดูด ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว และชนิดปีกสั้น ชนิดปีกยาวสามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกลโดยอาศัยกระแสลมช่วย ตัวเต็มวัยเพศเมีย วางไข่เป็นกลุ่ม ส่วนใหญ่วางไข่ ที่กาบใบข้าว หรือเส้นกลางใบ บริเวณที่วางไข่จะมีรอยช้ำเป็นสีน้ำตาลไข่มีลักษณะรูปกระสวยโค้งคล้ายกล้วยหอม มีสีขาวขุ่น ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ตัวเต็มวัยมีชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ ในหนึ่งฤดูปลูกข้าวเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลสามารถเพิ่มปริมาณ ได้ 2-3 อายุขัย เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเข้าทําลายข้าวโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์ท่อน้ำ ท่ออาหารบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทําให้ต้นข้าวมีใบเหลือง และแห้งตายคล้ายถูกน้ำร้อนลวกเป็นหย่อมๆ เรียก “อาการไหม้” โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวง นอกจากนี้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลยังเป็นพาหะนําเชื้อไวรัสโรคใบหงิก มาสู่ต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวมีอาการแคระแกร็น ต้นเตี้ยใบสีเขียวแคบและสั้น ใบแก่ช้ากว่าปกติ ปลายใบบิดเป็นเกลียวและขอบใบแหว่งวิ่น

      การป้องกันและควบคุมปริมาณของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล  สามารถทำได้ดังนี้ คือ 1. หมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอหากพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลให้รีบกำจัด ถ้าเกิดการระบาดให้ปฏิบัติตามคำแนะนำการป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ของกรมการข้าว และงดการใช้สารอะบาเม็กติน ไซเปอร์เมทริน เป็นต้น 2.ไม่ขังน้ำในแปลงนาตลอดเวลา ควรปล่อยให้ระดับน้ำมีพอดีดินเปียก เพื่อให้สภาพนิเวศในแปลงนาไม่เหมาะสมต่อการขยายประชากรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และยังทำให้มดสามารถขึ้นมากัดกินตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้อีกทางหนึ่ง 3.ในระยะก่อนข้าวตั้งท้อง เมื่อตรวจพบตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล วัยที่ 1-2 จำนวนมากกว่า 1 ตัวต่อต้น ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น บูโพรเฟซิล หรืออีโทเฟนพรอกช์ หรือไอโซโปรคาร์บ 4.ในระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวงเมื่อตรวจพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล 10 ตัวต่อกอ หรือ 1 ตัวต่อต้น และไม่พบมวนเขียวดูดไข่หรือพบน้อยมาก ให้ใช้สารป้องกันกำจัดแมลง เช่น ไดโนทีฟูเรน หรือไพมิโทรซีน โดยใช้อัตราตามคำแนะนำที่ระบุในฉลาก และปรึกษาเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ 5.ในระยะข้าวใกล้เก็บเกี่ยวกรณีพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลตัวเต็มวัยบินมาเล่นแสงไฟตามบ้านให้ใช้เครื่องดูดแมลงล่อทำลาย หรือกับดัดกาวเหลืองล่อทำลาย เพื่อลดจำนวนของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่จะอพยพไปยังแปลงข้าวปลูกใหม่

     หากมีข้อสงสัยหรือต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อที่ศูนย์วิจัยข้าวใกล้บ้านหรือทางเว็บไซด์ของกรมการข้าว www.ricethailand.go.th หรือศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี  ptt_rrc.ricethailand.go.th โทรศัพท์ 0-25771688-9 หรือ สายด่วน หมอข้าว 1170 กด 4 ในวันและเวลาราชการ 

Click Donate Support Web

ais 790x90

GC 950x120

sme 720x90

banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!