หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

TRIS7 1


ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร 'บ. เจมาร์ท' ที่ 'BBB' แนวโน้ม 'Stable'

       ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ 'BBB' ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable’ หรือ ‘คงที่’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทซึ่งได้รับแรงผลักดันจากธุรกิจการซื้อและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพและผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งของบริษัทลูกหลักรายสำคัญคือ บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) รวมถึงสถานะทางการแข่งขันที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท

         ในขณะที่การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตลอดจนภาระหนี้ที่สูง และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจให้เช่าพื้นที่ของบริษัทอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ความร่วมมือภายในกลุ่มที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อรองรับโครงสร้างการกระจายตัวของธุรกิจ

     สถานะความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทมาจากการกระจายตัวของแหล่งรายได้ในระดับปานกลางโดยบริษัทเน้นธุรกิจค้าปลีก (Retail) และธุรกิจการเงิน (Finance) ในปี 2562 รายได้รวมของบริษัทส่วนใหญ่มาจาก บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์ (Gadget) (คิดเป็น 64% ของรายได้รวม) บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ซึ่งดำเนินธุรกิจจัดเก็บหนี้และซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร (21%) บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล (Retail Lending)(7.5%) และ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นที่ (7.5%) นอกจากนี้ บริษัทยังมีบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มอีกคือ บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด แม้จะมีรายได้จากหลากหลายบริษัทในกลุ่ม แต่กำไรหลักของกลุ่มก็มาจากบริษัทลูกเพียงไม่กี่แห่งโดยบริษัทหลักคือบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส

        เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งด้านความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มเจมาร์ท หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัทคือการส่งเสริมการผสานประโยชน์จากความร่วมมือกันของบริษัทภายในกลุ่ม ปัจจุบันบริษัทในกลุ่มมีความร่วมมือกันในหลากหลายรูปแบบ โดยหนึ่งในตัวอย่างดังกล่าวคือการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทเจมาร์ท โมบาย ผ่านทางเครือข่ายของบริษัทซิงเกอร์ประเทศไทย ในขณะเดียวกัน บริษัท เจ ฟินเทค ก็เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อแบ่งจ่าย (Installment Loan) และสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loans) ให้แก่ลูกค้าของบริษัทเจมาร์ท โมบาย ส่วนบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ก็เป็นผู้ให้บริการติดตามหนี้ให้แก่บริษัท เจ ฟินเทค และบริษัทซิงเกอร์ประเทศไทยและซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจากทั้ง 2 บริษัทมาบริหาร ในขณะที่บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ยังให้การสนับสนุนบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซส ด้วยการช่วยปรับปรุงและขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่รอการขาย เป็นต้น

        ทริสเรทติ้ง มองว่าการผสานพลังทางธุรกิจกันภายในกลุ่มนั้นสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นอีกได้ แต่อาจจะต้องใช้เวลานานในการที่จะส่งผลทำให้แต่ละธุรกิจสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน กลุ่มเจมาร์ทก็ยังคงจำเป็นต้องมีการบริหารธุรกิจและเงินทุนภายในกลุ่มที่ดีเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะธุรกิจ

ธุรกิจบริหารหนี้สินช่วยสนับสนุนผลการการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่ม

       ธุรกิจจัดเก็บและบริหารหนี้สินภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิส เป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดและสร้างรายได้ที่สำคัญที่ช่วยสนับสนุนผลประกอบการโดยรวมของกลุ่มเจมาร์ท โดยในปี 2562 บริษัทเจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ยังคงนำส่งผลกำไรส่วนใหญ่ให้แก่กลุ่มด้วยผลกำไรสุทธิที่ระดับ 649 ล้านบาท หรือคิดเป็น 82% ของกำไรสุทธิของกลุ่มเจมาร์ท

       นอกจากนี้ ความสำคัญของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ยังเห็นได้จากการที่บริษัทได้รับการจัดสรรเงินลงทุนจากกลุ่มในปี 2562 ในสัดส่วนมากกว่า 90% ของกลยุทธ์การลงทุนรวมของกลุ่มอีกด้วย โดยแนวโน้มการได้รับการจัดสรรเงินลงทุนที่สูงกว่าบริษัทย่อยรายอื่นในกลุ่มดังกล่าวนี้คาดว่าจะยังคงต่อเนื่องไปจนถึงปี 2563 จากประกาศแผนธุรกิจของกลุ่มที่ออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้

       ภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 นับว่าเป็นความท้าทายต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มเจมาร์ท ที่ผ่านมาถือว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังอยู่ในระดับที่รับมือได้เมื่อดูจากผลการจัดเก็บหนี้ที่ลดลงประมาณ 10% ซึ่งยังถือว่าเป็นผลกระทบที่ต่ำกว่าช่วงวิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทยในปี 2554

ธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ชะลอตัวปานกลาง

        ผลการดำเนินงานในธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ดำเนินการโดยบริษัทเจมาร์ท โมบาย ชะลอตัวลงอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและการแข่งขันที่สูงในอุตสาหกรรม ในปี 2562 ยอดขายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าที่เกี่ยวข้อง (รวมรายได้จากกิจกรรมส่งเสริมการขาย) ของบริษัทเจมาร์ท โมบาย ลดลง 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 6.78 พันล้านบาท ในขณะที่ในไตรมาสแรกของปี 2563 บริษัทยังคงมีรายได้ลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 1.44 พันล้านบาท

         แม้ว่า รายได้จะลดลง แต่ในปี 2562 บริษัทเจมาร์ท โมบาย มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 91 ล้านบาท ภายหลังจากการขาดทุนในปี 2561 บริษัทเจมาร์ท โมบาย ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นในด้านประสิทธิภาพและความสามารถในการทำกำไรให้มากขึ้นโดยมีการปิดร้านสาขาที่ไม่ทำกำไรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการควบคุมต้นทุน นอกจากนี้ บริษัทยังบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากสินค้าล้าสมัย รวมไปถึงการลดสัดส่วนการขายส่งให้ลูกค้ารายใหญ่ซึ่งมีอัตราผลกำไรที่ต่ำอีกด้วย

พันธมิตรใหม่ในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย

       เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่คือ KB Kookmin Card Co., Ltd. เพื่อลงทุนในธุรกิจสินเชื่อซึ่งดำเนินงานโดยบริษัท เจ ฟินเทค KB Kookmin Card เป็นบริษัทที่ให้บริการบัตรเครดิตในสาธารณรัฐเกาหลีของ KB Financial Group บริษัทดังกล่าวได้ตกลงที่จะซื้อหุ้นของบริษัท เจ ฟินเทค ในสัดส่วน 51% ภายในปี 2563 นี้ ปัจจุบันธุรกรรมดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนรอการอนุมัติจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ Financial Supervisory Service ของสาธารณรัฐเกาหลี โดยหลังจากธุรกรรมเสร็จสิ้น งบการเงินของบริษัท เจ ฟินเทค จะไม่ถูกนำมารวมในการจัดทำงบการเงินรวมของกลุ่มเจมาร์ทอีกต่อไป ซึ่งน่าจะทำให้ความสามารถในการทำกำไรโดยรวมของบริษัทเจมาร์ทดีขึ้นเนื่องจากรายได้ของบริษัท เจ ฟินเทค คิดเป็นสัดส่วนเพียง 7.4% ของรายได้ในงบการเงินรวมของบริษัทเจมาร์ทแต่กลับมีค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สูญของสินเชื่อคิดเป็นสัดส่วนถึง 38.8% ของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัทเจมาร์ทในปี 2562 นอกจากนี้ ธุรกรรมดังกล่าวยังน่าจะทำให้ภาระหนี้ของกลุ่มลดลงในระยะสั้นเนื่องจากบริษัทจะได้รับเงินที่ปล่อยกู้ให้แก่บริษัท เจ ฟินเทค กลับคืนมาประมาณ 2–3 พันล้านบาท

        ทริสเรทติ้ง มองว่าการร่วมทุนดังกล่าวจะช่วยทำให้สถานะทางการเงินของบริษัท เจ ฟินเทค ค่อย ๆ ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ในระยะสั้นทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัท เจ ฟินเทค จะได้ประโยชน์จากต้นทุนการระดมทุนที่ต่ำลงเป็นลำดับแรกจากข้อตกลงที่ KB Kookmin Card จะให้การค้ำประกันเงินกู้ให้แก่บริษัท เจ ฟินเทค จากสถานะที่แข็งแกร่งของอันดับเครดิตของ KB Kookmin Card ที่ระดับ “A2” ซึ่งจัดโดย Moody’s Investors Service นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าความเชี่ยวชาญในการบริหารความเสี่ยงของ KB Kookmin Card จะช่วยยกระดับคุณภาพสินเชื่อของบริษัท เจ ฟินเทค ทั้งสินเชื่อคงค้างและสินเชื่อที่จะปล่อยใหม่ให้ดีขึ้น ในขณะเดียวกัน การร่วมทุนในครั้งนี้ยังจะเป็นโอกาสให้ KB Kookmin Card สามารถเจาะเข้าสู่ตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค (Consumer Lending) ในประเทศไทยได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งยังไม่คาดหวังว่าการร่วมทุนดังกล่าวจะสร้างส่วนแบ่งผลกำไรที่มีสาระสำคัญในระยะสั้นเพราะความร่วมมือทางธุรกิจ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนระบบต่าง ๆ และการออกผลิตภัณฑ์หรือบริการนั้นมีแนวโน้มที่จะใช้เวลานาน

สัดส่วนรายได้จากธุรกิจของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ยังมีความไม่แน่นอน

     บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ยังคงมีสัดส่วนรายได้ที่ส่งให้แก่กลุ่มเจมาร์ทที่ไม่มากซึ่งคิดเป็นเพียง 8% ของรายได้รวมของกลุ่มและ 2% ของกำไรสุทธิของกลุ่มในปี 2562 ในมุมมองทริสเรทติ้งเห็นว่าผลการดำเนินงานของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ยังมีความผันผวนเมื่อพิจารณาจากผลกระทบที่ผู้ประกอบการค้าปลีกได้รับจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัจจุบันบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท เป็นผู้ดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้นที่สำหรับลูกค้ารายย่อย (Retail Leasing Space) เช่น ศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) และพื้นที่สินค้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (“IT Junction”) ในห้างสรรพสินค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) คือ ศูนย์การค้าบิ๊กซี และยังเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายคือโครงการคอนโดมิเนียม Newera’ ด้วย

      โดยในปี 2562 ผลการดำเนินงานของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ปรับตัวดีขึ้นจากการโอนคอนโดมิเนียม Newera ได้บางส่วน ส่วนยูนิตที่เหลือนั้นผู้บริหารคาดว่าจะโอนเสร็จสิ้นได้ทั้งหมดภายในปี 2563 นี้ การที่บริษัทยังไม่มีโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ รายได้ในอนาคตของบริษัทจึงจะมาจากรายได้ค่าเช่า Community Mall และ IT Junction เป็นหลัก นอกเหนือจากโครงการ Community Mall จำนวน 3 แห่งที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีอัตราการเช่าโดยเฉลี่ยที่ระดับ 94% แล้ว ณ สิ้นปี 2562 บริษัทยังมีโครงการใหม่ภายใต้ชื่อแบรนด์ JAS Village’ ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครที่มีแผนจะเปิดตัวในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 และบนถนนคู้บอน-รามอินทราที่จะเปิดตัวในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 อีกด้วย ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นแหล่งรายได้ของบริษัทที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมุติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาในช่วงครึ่งหลังของปี 2563

       ในขณะเดียวกัน IT Junction ซึ่งบริษัทให้เช่าช่วงพื้นที่แก่ลูกค้ารายย่อยขนาดเล็กเพื่อจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นมีพื้นที่ให้เช่าลดลงเหลือ 7,907 ตารางเมตร (ตร.ม.) ในปี 2562 จาก 9,848 ตร.ม. ในปี 2561 ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีสาขาของ IT Junction ลดลงเหลือ 36 สาขาจาก 46 สาขา ณ เดือนมีนาคม 2562 อันเนื่องมาจากการยกเลิกสาขาที่ไม่ทำกำไร โดย ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทมีอัตราการเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 85% ซึ่งเท่ากับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ภาระหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง

       ทริสเรทติ้ง คาดว่า ภาระหนี้ของบริษัทจะคงอยู่ในระดับสูงจากแผนธุรกิจที่ต้องการเงินลงทุนจำนวนมากสำหรับบริษัทลูกรายสำคัญ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ซึ่งบริษัทมีแผนจะใช้เงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารที่จำนวน 4-5 พันล้านบาทต่อปี เมื่อมองในแง่บวก การลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท เจ ฟินเทค ลงจะช่วยลดภาระหนี้ของบริษัทลงในระยะสั้น ทั้งนี้ ในปี 2562 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ 3.9 เท่า ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2565) ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 3.5-4.5 เท่า ซึ่งอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าผลงานการจัดเก็บหนี้ของบริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ยังจะอยู่ในระดับเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้

        ในระยะ 12 เดือนข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยแหล่งสภาพคล่องส่วนใหญ่ตามงบการเงินรวมจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวนประมาณ 3.5-4 พันล้านบาทต่อปี รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนประมาณ 2.25 พันล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2563 ในขณะที่บริษัทจะมีภาระการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาทต่อปีบวกกับเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารอีกประมาณ 4-5 พันล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ กลุ่มเจมาร์ทยังจะมีหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดชำระรวมทั้งสิ้นอีกประมาณ 1.83 พันล้านบาทภายในปีนี้อีกด้วย ซึ่งภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระส่วนใหญ่นั้นคาดว่าจะใช้วิธีกู้เงินจากธนาคารและออกหุ้นกู้ชุดใหม่มาทดแทน ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทเจมาร์ทจะได้รับเงินที่ปล่อยกู้ให้แก่บริษัท เจ ฟินเทค คืนมาประมาณ 2.70 พันล้านบาทซึ่งจะช่วยสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทได้ในระยะสั้น

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับการดำเนินงานของบริษัทเจมาร์ทดังต่อไปนี้

  • • บริษัทจะมีรายได้รวม 1-1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี
  • • อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจจัดเก็บและบริหารหนี้สินจะอยู่ที่ระดับ 50%-60% ของธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะอยู่ที่ 10%-15% และของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ 15%-19%
  • • เงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี และเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารจะอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาทต่อปี

แนวโน้มอันดับเครดิต

        แนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable' หรือ 'คงที่' อยู่บนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจจัดเก็บหนี้และการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารเอาไว้ได้ ในขณะที่สถานะทางการตลาดในธุรกิจจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยังคงแข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าผลการดำเนินงานของบริษัทลูกรายอื่น ๆ เช่น บริษัท เจ ฟินเทค และบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

       โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังคงมีจำกัดในระยะเวลาอันใกล้เมื่อพิจารณาจากสถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัทเจมาร์ทในปัจจุบัน ในขณะที่ความกดดันทางด้านลบต่ออันดับเครดิตจะเกิดจากผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในส่วนของบริษัทเองหรือของบริษัทลูก หรือจากการลงทุนในเชิงรุกซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จนระดับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่สูงเกินกว่า 5 เท่าอย่างต่อเนื่อง

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- วิธีการจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 26 กรกฎาคม 2562

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงิน, 5 กันยายน 2561

- Group Rating Methodology, 10 กรกฎาคม 2558

บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com

ติดต่อ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

             บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2563 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้

           ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!